ยางพารา
ยางพารา
เป็นไม้ยืนต้น
มีถิ่นกำเนิดบริเวณลุ่มน้ำแอมะซอน ประเทศบราซิลและเปรู ทวีปอเมริกาใต้ โดยชาวพื้นเมืองเรียกว่า "เกาชู" (cao tchu) แปลว่าต้นไม้ร้องไห้
จนถึงปี พ.ศ. 2313 (1770) โจเซฟ พรีสต์ลีย์
พบว่ายางสามารถนำมาลบรอยดำของดินสอได้ จึงเรียกว่ายางลบหรือตัวลบ (rubber) ซึ่งเป็นศัพท์ใช้ในอังกฤษและเนเธอร์แลนด์เท่านั้น
ศูนย์กลางของการเพาะปลูกและซื้อขายยางในอเมริกาใต้แต่ดั้งเดิมอยู่ที่รัฐปารา
(Pará) ของบราซิล
ยางชนิดนี้จึงมีชื่อเรียกว่า ยางพารา
ยาง คือวัสดุพอลิเมอร์ที่ประกอบด้วยไฮโดรเจนและคาร์บอน
ยางเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูง
ยางที่มีต้นกำเนิดจากธรรมชาติจะมาจากของเหลวของพืชบางชนิด
ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวสีขาว คล้ายน้ำนม มีสมบัติเป็นคอลลอยด์ อนุภาคเล็ก
มีตัวกลางเป็นน้ำ ยางในสภาพของเหลวเรียกว่าน้ำยาง
ยางที่เกิดจากพืชนี้เรียกว่ายางธรรมชาติ ในขณะเดียวกันมนุษย์สามารถสร้างยางสังเคราะห์ได้จากปิโตรเลียม
การปลูกยางในประเทศไทย
การปลูกยางในประเทศไทยไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐานที่แน่นอน
แต่คาดว่าน่าจะเริ่มมีการปลูกในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2442-2444
ซึ่งพระยารัษฏานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรังในขณะนั้น
ได้นำเมล็ดยางพารามาปลูกที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นครั้งแรก
ซึ่งชาวบ้านเรียกต้นยางชุดแรกนี้ว่า "ต้นยางเทศา"[1]
และต่อมาได้มีการขยายพันธ์ยางมาปลูกในบริเวณจังหวัดตรังและนราธิวาส ในปี พ.ศ. 2454
ได้มีการนำพันธุ์ยางมาปลูกในจังหวัดจันทบุรีซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย
โดยหลวงราชไมตรี (ปูม ปุณศรี) เป็นผู้นำพันธุ์ยางมาปลูก
และนับจากนั้นเป็นต้นมาได้มีการขยายพันธุ์ปลูกยางพาราไปทั่วทั้ง 14
จังหวัดในภาคใต้ และ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก นอกจากนี้ยังมีการขยายพันธุ์ยางมาปลูกในภาคกลาง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา
ยางพาราก็กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย
และมีการผลิตเป็นอันดับหนึ่งของโลก
ยางพาราประเภทยางดิบ ผลิตภัณฑ์ยาง
และไม้ยางพารา สามารถทำรายได้การส่งออกเป็นอันดับสองของประเทศ
ยางพาราจึงถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย
และมีการส่งออกยางธรรมชาติมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ซึ่งในปี
พ.ศ. 2543 มีผลผลิตจากยางธรรมชาติประมาณ 2.4 ล้านตัน มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 124,000 ล้านบาท เดิมพื้นที่ที่มีการปลูกยางส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออก
แต่ในปัจจุบันมีการขยายการปลูกเพิ่มขึ้นไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และภาคตะวันตก
โดยเฉพาะยางพาราจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในเขตจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดศรีสะเกษ
จัดเป็นยางพาราคุณภาพดีไม่ต่างจากแหล่งผลิตเดิมในเขตภาคใต้และภาคตะวันออก
พื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกยางทั่วประเทศมีทั้งหมด 55.1 ล้านไร่
แต่พื้นที่ปลูกจริงมีประมาณ 19 ล้านไร่เกษตรกร 1,200,000คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4แสนล้านบาท